MITSUBISHI LANCER เกียร์ธรรมดา 5 สปีด คันแรกในไทย

สำหรับรถยนต์ตระกูล EVOLUTION ก็ถือว่าเป็นอะไรที่ “สุดยอด” ในลักษณะของรถเก๋งขับเคลื่อนสี่ล้อ พัฒนามาเกือบ 20 ปี ก็มาถึงยุคของ X กันแล้ว เปล่า มันไม่ใช่ภาพยนตร์อย่างว่าแต่อย่างใด (หมายถึงเรื่อง X-MEN อย่าคิดมาก) แต่ความหมายของ X ก็คือ 10 ตามอักษรโรมัน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงกันไปอย่างหมดจด ไม่มีเค้าของเดิมเหลือเลย ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง เครื่องยนต์ ช่วงล่าง ถูกพัฒนาใหม่หมด จึงเป็นรถที่มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้นตามยุคสมัย ในเมืองไทยก็ย่อมจะ “ไม่พลาด” กันแน่ รถคันนี้เป็นฝีมือของอู่ EVO STEP ย่านบางใหญ่-ไทรน้อย ที่เชี่ยวชาญการทำ EVOLUTION ทุกรุ่น....

4B11 ของใหม่ที่น่าสนใจ
ขุม พลังเดิมของ EVO X ก็จะเปลี่ยนเป็น 4B11 บล็อกใหม่ซิง ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ทดแทน 4G63 ที่มีอายุยืนยาวมานานพอสมควร สำหรับข้อที่น่าสนใจก็คือ การออกแบบเครื่องยนต์ จะเน้นให้ครอบคลุมทุกสภาพถนน ทนทาน ขับง่าย ขับได้ทุกสภาวะ ไม่ว่าจะใช้งานธรรมดาหรือรุนแรง มี Power Band กว้าง ตอบสนองดีตั้งแต่รอบต่ำ ตั้งแต่ 2,000 รอบขึ้นไป ก็จะมีแรงบิดให้ใช้งานมากกว่า “40 กก.-ม.” กันแล้ว นับว่าเป็นแรงบิดที่สูงมากในรอบต่ำ ทำให้การตอบสนองนุ่มนวลแต่รุนแรง และยังเป็นเครื่องเทอร์โบแรง ๆ ที่มี “มลพิษต่ำ” ผ่านตามมาตรฐาน EURO 4 ที่ทั่วโลกบังคับใช้ นอกจากนี้ยังมีระบบ MIVEC ทั้งไอดีและไอเสีย (ตัว EVO IX จะมีทางฝั่งไอดีอย่างเดียว) ปรับจังหวะแคมได้อย่างเหมาะสมตั้งแต่รอบต่ำถึงสูง ทำให้เร่งดี กินน้ำมันน้อย “เทอร์โบ” โข่งหลังเป็นแบบ Twin Scroll ใบด้านไอดี (Compressor) จะเป็น “อะลูมิเนียมผสมไทเทเนียม” น้ำหนักเบา ปั่นอากาศได้เร็ว ไม่รอรอบ “ท่อไอเสีย” แบบปลายคู่ ท่อมีขนาดใหญ่ หม้อพักก็ใหญ่ เพื่อเก็บเสียงได้ดีและไอเสียไม่อั้น “แบตเตอรี่” ย้ายไปด้านท้าย ทำให้ด้านหน้ามีที่เหลือ เซอร์วิสง่าย และสามารถออกแบบให้ท่อไอดีมีขนาดใหญ่ได้ โดยไม่เกะกะอะไร ก็จะช่วนให้อากาศไหลเข้าดีขึ้น อันนี้ก็เป็นเรื่องราวคร่าว ๆ เกี่ยวกับข้อดีของเครื่อง 4B11 ที่ถูกพัฒนาใหม่ทั้งหมด เหมาะกับการเป็นรถยุคหน้า...

เดิม ๆ เหมือนไม่เท่าไหร่ แต่ลงมือแล้วได้เรื่อง
สำหรับ ฟีลลิ่งของเครื่องยนต์ ทางอู่ก็บอกว่า เครื่องเดิม ๆ ของ EVO X เหมือนจะไม่ค่อยดุดันเท่าไหร่ ถ้าเทียบกับ EVO IX (9) แล้ว ฟีลลิ่งก็ยังดุดันสู้ไม่ได้ จริง ๆ แล้วอัตราเร่งมันไม่แพ้หรอก แต่ 4B11 มันจะไปแบบราบเรียบและนุ่มนวลกว่า เลยรู้สึกว่ามันไม่ค่อยแรงเท่าไหร่ แต่เมื่อลงมือเมื่อไหร่ 4B11 จะได้เปรียบทันที ถ้าเทียบ Item ที่ทำเท่ากัน เพราะคันนี้เปลี่ยนแค่ไม่กี่อย่าง “กล่อง กรอง ท่อ” แค่นั้นเอง ก็ได้มาเกือบ ๆ “400 ม้า” แล้ว ทั้งนี้ ในความคิดเห็นของข้าพเจ้าผู้ทำคอลัมน์ สาเหตุที่เครื่องเดิม ๆ ที่มีฟีลลิ่งแบบไม่ค่อยสะใจ ก็มาจากเรื่อง “ค่ามลพิษ” เครื่องรุ่นใหม่จะต้องดีไซน์ทุกอย่าง ตั้งแต่ ห้องเผาไหม้, การฉีดน้ำมัน อะไรสารพัดสารเพ ที่จะทำให้ “มลพิษต่ำ” แต่ได้แรงม้าด้วย ดูมันจะสวนทางกัน แต่เครื่องรุ่นใหม่ ๆ ก็สามารถทำได้ เมื่อมันถูกกำหนดค่ามลพิษในมาตรฐานของ EURO 4 ที่เข้มงวดมาก จึงเหมือนถูกบีบจมูกอยู่ ไม่อาละวาดได้เต็มที่นัก แต่เมื่อลงมือโมดิฟายก็เหมือน “ปลดปล่อย” โดยเฉพาะเครื่องรุ่นใหม่ที่มีการออกแบบดี ๆ ก็ย่อมได้เปรียบเครื่องรุ่นเก่า แรงม้าจึงเพิ่มขึ้นมาแบบเห็นหน้าเห็นหลัง คันนี้ก็ทำแบบ Light Tuning ไปก่อน เพราะเครื่องยังสด ไม่อยากไปทำอะไรมันมากนัก แค่นี้ก็ขับมันส์มากแล้วล่ะครับ...

นานา สิ่งกับ EVOLUTION X
สำหรับรายละเอียดที่เราจะเพิ่มเติม ให้นั้น ก็จะเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีของ EVO X ที่ได้พัฒนาขึ้นมา เพื่อช่วยให้ขับขี่ได้ง่าย และปลอดภัยขึ้นมาก คนไม่ต้องมีทักษะมากก็สามารถควบคุมได้ดี รวมถึงการช่วยแก้ปัญหาในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ ที่รถสมัยใหม่พยายามพัฒนาขึ้น เรียกว่ามันสามารถเรียนรู้ลักษณะการขับของเราได้ตลอดว่า ดูแล้ว “ฉลาด” ก็น่าสนใจดีเหมือนกัน เลยเอามาให้ดูกันว่าระบบต่าง ๆ มันมีอะไรบ้าง และทำอะไรได้บ้าง เชิญทัศนาครับ...

S-AWC (Super All Wheel Control)
อัน นี้จะเป็นหัวข้อเกี่ยวกับ “ระบบช่วยการทรงตัว” เป็นระบบควบคุมการขับเคลื่อนสี่ล้อ แบ่งกำลังไปแต่ละล้อได้อย่างเหมาะสม มีศักยภาพในการควบคุมได้สูง ก็จะแบ่งแยกไปอีก ดังนี้..

ACD (Active Center Differential)
ตัวนี้จะเป็น Transfer ที่ “แบ่งกำลังไปยังล้อหน้าและหลัง” ตามการขับขี่ โดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุม โดยเริ่มจากอัตราส่วน หน้า/หลัง อยู่ที่ 50/50 ก็คือเท่ากัน และมีการ “ฟรี” ไม่มีการล็อกไปหน้าและหลัง ปรับได้ตามการยึดเกาะของล้อในขณะนั้น ประมวลผลโดยเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เช่น Engine Torque Sensor วัดแรงบิดมาจากเครื่อง, Brake Press Sensor วัดแรงดันเบรกที่ใช้, G Sensor วัดการระดับการเอียงของตัวรถทุกทิศทาง, Steering Angle มุมการเลี้ยวของพวงมาลัย ทั้งหมดนี้ก็จะช่วยให้การปรับกำลังเป็นไปอย่างเหมาะสม...

AYC (Active Yaw Control)
คำว่า Yaw แปลว่า “ส่าย” แสดงถึงการควบคุมในขณะที่รถมีอาการส่าย (Yaw Moment) อันนี้จะเป็น “ภาคต่อ” จากเมื่อกี้ AYC จะควบคุมการส่งกำลังไปยัง “ล้อซ้าย-ขวา” ให้เหมาะสม เพื่อลดอาการส่ายของรถ โดยควบคุมจากชุดเฟืองท้าย ที่อาศัยคอมพิวเตอร์คอยจับอาการว่าตอนนี้ล้อด้านใดเริ่มสลิป ก็จะลดการจับของแผ่นคลัตช์เฟืองดอกจอกล้อฝั่งนั้นลง เพื่อ “ลดแรงบิด” และไปเพิ่มการจับล้ออีกทาง ควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม อีกทั้งยังควบคุม “แรงดันเบรก” ได้อีก ทำให้ลดอาการส่ายลง..

ASC (Active Stability Control)
ระบบนี้จะ ช่วยได้มากใน “ถนนลื่น” โดยอาศัยการประมวลผลรอบคัน หากผู้ขับเลี้ยวรถอย่างฉับพลัน อาจจะทำให้รถเสียอาการ ระบบนี้จะคอยป้องกัน โดยการควบคุมแรงดันเบรกทั้งสี่ล้อ ให้เฉลี่ยตามการยึดเกาะของแต่ละล้อ ลักษณะการขับ เพื่อให้ขับได้อย่างปลอดภัยโดยเฉพาะบนถนนลื่น...

Sport ABS
จะเป็นพัฒนาการอีกขั้นของ ABS เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นสำหรับความเร็วสูง โดยเฉพาะการเบรกแรง ๆ บนถนนลื่น จะป้องกันไม่ให้ล้อล็อก และเฉลี่ยแรงดันเบรกไปแต่ละล้อตามความเหมาะสม อันนี้จะใช้เซ็นเซอร์แรงดันเบรก และเซ็นเซอร์วัดการส่าย พูดง่าย ๆ ก็มีการประมวลผลเพิ่มขึ้นจาก ABS ปกตินั่นเอง...

3 Control Mode Select
ระบบ S-AWC ก็จะเป็นการแบ่งโหมดการขับขี่ที่แตกต่างกัน 3 แบบ สามารถเลือกได้ที่พวงมาลัย (Steering Switch) ตั้งแต่ TARMAC อันนี้จะสำหรับ “ถนนแห้ง” เป็นโหมดที่ให้กำลังสูงสุด ส่งกำลังได้เต็ม ๆ เพราะยางมีการยึดเกาะสูง อันต่อมา GRAVEL จะเอาไว้รองรับการขับขี่ใน “ถนนลื่น” เช่น ฝนตก ทางผิวลื่น ลูกรัง ฯลฯ ก็จะลดแรงบิดลง ไม่ปล่อยมาพรวดพราดทีเดียว เพื่อประคองให้รถสามารถขับได้อย่างปลอดภัย ไม่ให้ล้อสลิปจนเกิดการหลุดการควบคุม (Loose Control) และ SNOW อันนี้ชัดเจน เอาไว้วิ่งทางลื่นมาก ๆ อย่าง “หิมะ” ก็จะลดแรงบิดให้น้อยลงไปอีก สามารถขับได้อย่างเสถียร แม้บนทางลื่นมาก ๆ...

MAX POWER : 321.4 PS @ 6,500 rpm
MAX TORQUE : 46.69 kg-m. @ 4,200 rpm
DYNAMOMETER : Super Autocar

สำหรับแรงม้าและแรงบิดของ EVO X คันนี้ ก็อยู่ในขั้นประทับใจ ตัวเลขไม่ได้เยอะ ไม่ได้อยู่ในเขตบ้าพลัง แต่ที่สำคัญคือ “มาสม่ำเสมอ” ลองสังเกตกราฟดูก็ได้ครับ ว่ามันนอนมาเลย โดยเริ่มวัดตั้งแต่ 4,000 รอบ ไปยัน 7,000 รอบ กราฟก็มาแบบสม่ำเสมอ ก็คงได้เปรียบจากระบบเปิด-ปิดวาล์วอย่าง MIVEC และยังใส่ V CAM ของ HKS เข้าไปช่วยปรับอีกที จึงได้เส้นกราฟที่กว้างอย่างที่เห็น กราฟแรงม้า (เส้นสีชมพู) ตั้งแต่ 4,000 รอบขึ้นไป ก็ได้แรงม้าแถว ๆ 275 PS แล้วก็ไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ป้วนเปี้ยนอยู่ระดับ 300 PS ตลอด จนหยุดการวัดที่ 7,000 รอบ กราฟก็ยังไม่ตก ได้แรงม้าสูงสุด 321.4 PS แต่เป็นแรงม้า “ลงล้อ” ถ้าจะคิดไปถึงแรงม้าที่ฟลายวีล ก็ลองบวกเพิ่มเข้าไปประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 50-60 แรงม้า ถ้าเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อ บางทีก็อาจจะ 80 แรงม้าขึ้นไป คันนี้ลองบวกเข้าไป 20 เปอร์เซ็นต์ ประเมินแรงม้าที่ฟลายวีล น่าจะอยู่แถว ๆ “385 PS” เป็นอย่างต่ำ ก็แตะ ๆ 400 PS เข้าไปแล้ว...

ส่วนกราฟแรงบิด ก็เหมือนกับแรงม้า มาในลักษณะเดียวกัน แต่แรงบิดจะนำโด่งมาก่อนในช่วง 4,000 รอบ ซึ่งเป็นช่วงที่กำลัง “ขึ้น” พอดี โดยมีค่าแรงบิดสูงสุดถึง “46.69 กก.-ม.” ที่ 4,200 รอบ แล้วก็ค่อย ๆ ไหลลง ก็เป็นลักษณะของ Turbo ที่จะ Peak Boost ในรอบกลาง ๆ เพื่อเอาแรงบิดในช่วงนั้นให้มากที่สุด เพราะอยู่ในช่วง “ส่ง” แล้วหลังจากนั้นก็ค่อย ๆ Retard Boost ลงมาตามลำดับ กราฟของคันนี้ก็จะออกแนว “ขับง่าย” โดยใช้แรงบิดเป็นตัวสร้างอัตราเร่งเป็นหลัก จากที่ดู ในรุ่นเกียร์ธรรมดา ก็มีแค่ 5 สปีด จากเดิม 6 สปีด อาจจะเป็นไปได้ว่าต้องการขายรุ่นเกียร์ออโต้มากกว่า อีกอย่างก็คือ เครื่องยนต์มีแรงบิดมาต่อเนื่อง ก็เลยใช้เกียร์ 5 สปีด ก็พอแล้ว เป็นไปได้ทั้งสองทาง ซึ่งเจ้าของรถบอกว่า อัตราเร่งก็ดีกว่า EVO IX แม้เกียร์จะน้อยกว่าก็ตาม สรุปคือ มีกำลังให้ใช้แบบต่อเนื่อง ดึงต่อเนื่องสม่ำเสมอ ยังไงก็เร็วแถมขับง่ายด้วยครับ...

ขอขอบคุณ : EVO STEP สำหรับรถและข้อมูล โทร. 08-1640-9194 (คุณบุ๊ง), HKS THAILAND สินค้า HKS สำหรับ EVO X 0-2743-0770-4 (คุณณัฐ), IMPACT ARENA เมืองทองธานี สำหรับสถานที่ถ่ายทำ...
FACEBOOK : http://www.facebook.com/pages/XO-Autosport หรือ http://bit.ly/xoautosport


X-TRA ORDINARY
รถยนต์ LANCER EVOLUTION จะเกิดมาเพื่อเป็นสายพันธุ์แรลลี่โดยเฉพาะ จากเดิมที่ใช้ GALANT VR-4 ลงแข่ง แต่ติดที่ว่าเป็นรถนั่งขนาดกลางที่คันค่อนข้างใหญ่ ก็เลยมีข้อจำกัดในด้านความว่องไว ก็เลยเปลี่ยนมาใช้รถเล็กอย่าง LANCER แทน เพื่อความคล่องตัวและสมรรถนะ ก็เลยเกิดเป็น LANCER EVOLUTION รุ่นต่าง ๆ ออกมา โดยญี่ปุ่นก็จะออกเสียงเป็น “ลันเอโว” ก็มาจาก “LAN” บวก “EVO” ตามประสาพี่ยุ่นที่ชอบมีแสลงย่อ ๆ ส่วนตัว...

0 ความคิดเห็น: